Rechercher dans ce blog

Saturday, May 7, 2022

ชายอเมริกันที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมูเมื่อเดือน ม.ค. อาจเสียชีวิตเพราะเชื้อไวรัสจากสัตว์ - บีบีซีไทย

นายเบ็นเน็ตต์กับลูกชาย (ซ้าย) และผู้อำนวยการโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจจากสัตว์ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์

ที่มาของภาพ, UNIVERSITY OF MARYLAND SCHOOL OF MEDICINE

ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจจากหมูให้กับนายเดวิด เบ็นเน็ตต์ ชาวอเมริกันวัย 57 ปี ซึ่งเสียชีวิตไปหลังรับการผ่าตัดได้เพียง 2 เดือน ออกมาเปิดเผยว่าพบเชื้อไวรัสจากสัตว์ในหัวใจหมูที่ใช้ปลูกถ่ายดังกล่าว ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าชายผู้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมูคนแรกของโลก อาจเสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า นายแพทย์บาร์ตลีย์ กริฟฟิธ ศัลยแพทย์ประจำโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ได้เปิดเผยต่อที่ประชุมวิชาการแห่งหนึ่งว่าพบเชื้อไวรัส Porcine Cytomegalovirus (PCMV) ในหัวใจหมูที่ปลูกถ่ายให้กับนายเบ็นเน็ตต์ในปริมาณเล็กน้อย ระหว่างที่เขาพักฟื้นหลังการผ่าตัด ซึ่งเชื้อไวรัสนี้พบได้บ่อยในสัตว์จรจัดหลายชนิด

นิตยสาร MIT Technological Review รายงานว่า ทีมผู้จัดเตรียมอวัยวะดังกล่าวก่อนการผ่าตัด ซึ่งได้แก่บริษัทผลิตภัณฑ์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Revivicor ตรวจไม่พบเชื้อชนิดนี้ในตอนแรก ทั้งที่มีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญหลายรายมาก่อนแล้วว่า มีความเสี่ยงที่การปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์จะนำเชื้อก่อโรคชนิดใหม่ ๆ ให้ติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้

หลังการผ่าตัดเมื่อช่วงต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อาการของนายเบ็นเน็ตต์ดูเป็นปกติในช่วง 45 วันแรก ส่วนหัวใจหมูที่ได้รับการปลูกถ่ายก็ทำงานได้เป็นอย่างดี แต่นพ. กริฟฟิธตรวจพบเชื้อไวรัส PCMV ในหัวใจใหม่ของนายเบ็นเน็ตต์ หลังการผ่าตัดผ่านไปได้ราว 20 วัน แต่เขายืนยันว่าคนไข้ไม่แสดงอาการติดเชื้อ และไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายเลย

การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจจากหมูของนายเบ็นเน็ตต์ เมื่อเดือนมกราคมของปีนี้

ที่มาของภาพ, UNIVERSITY OF MARYLAND SCHOOL OF MEDICINE

"การที่เราตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันที่ 20 หลังการผ่าตัด นับว่าเชื้อปรากฏตัวขึ้นเร็วมาก ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจเพิ่มจำนวนขึ้นและแพร่กระจายตัวมากขึ้นหลังจากนั้น จนในวันที่ 45 คนไข้ก็มีอาการทรุดลง โดยเริ่มมีไข้ หายใจหอบแรง พูดไม่ได้ และไม่สนใจสิ่งรอบข้าง" นพ.กริฟฟิธกล่าว

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ระบุว่า ยังไม่พบหลักฐานที่ชี้ถึงการติดเชื้อของนายเบ็นเน็ตต์ และนพ. กริฟฟิธก็ยังไม่ได้สรุปถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด แม้จะมีการตรวจพบเชื้อไวรัสดังกล่าวก็ตาม ขณะนี้เขายังคงทำการศึกษาวิเคราะห์ต่อไป โดยเชื่อว่าสาเหตุหลักที่ทำให้นายเบ็นเน็ตต์เสียชีวิตนั้น เป็นเพราะมีอาการหัวใจล้มเหลวขั้นวิกฤตอยู่แล้วก่อนการผ่าตัด

แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ยังยืนยันว่า ทีมแพทย์และพยาบาลผู้ทำการผ่าตัด ได้ดำเนินตามข้อบังคับของคณะกรรมการอาหารและยาหรือเอฟดีเอของสหรัฐฯ ทุกประการ ในการจัดเตรียมและจัดส่งหัวใจหมูดัดแปลงพันธุกรรมที่ปลอดเชื้อ ส่วนอวัยวะที่ปลูกถ่ายนั้นก็มาจากหมูที่เลี้ยงในฟาร์มปลอดเชื้อเช่นกัน

Adblock test (Why?)


ชายอเมริกันที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมูเมื่อเดือน ม.ค. อาจเสียชีวิตเพราะเชื้อไวรัสจากสัตว์ - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

ทำงานหนักจนลืมกินข้าว ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารจริงหรือไม่? - Hfocus

การกินอาหารไม่ตรงเวลา มีผลต่อโรคกระเพาะจริงไหม? ปรับพฤติกรรมอย่างไรจะช่วยลดอาการป่วย  ด้วยพฤติกรรม การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้บางคนไม่สามา...