Rechercher dans ce blog

Saturday, May 21, 2022

ต่อมน้ำเหลืองโต นี่..มะเร็ง หรือไม่ ? แพทย์แจงคนไข้ หลังฉีดวัคซีน mRNA - MCOT Plc

กังวลหนักใจหนักมาก นี่..มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือไม่..? หลังไปฉีดวัคซีน ป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นชนิด mRNA ซึ่งกรณีคนไข้รายนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ออกมาชี้แจงสาเหตุแล้วว่า ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ บวมโตผิดปกติมากนั้น เกิดจากอะไร ? นอกจากนี้ Backbone MCOT มีคำแนะนำวิธีสังเกต อาการป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มาฝาก ย้ำ..ตรวจพบเร็ว รักษาหายขาด...

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โดยระบุว่า

คนไข้กังวลมาก มาหาด้วย ต่อมน้ำเหลือง ที่คอโตทั้ง 2 ข้างหลัง ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มกระตุ้น ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ เพราะอ่านข่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด โดยเฉพาะชนิด mRNA มีผลข้างเคียง อาจทำให้เกิด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ผู้ป่วยหญิงอายุ 45 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ได้รับวัคซีน แอสตร้าเซเนก้า 2 เข็มแรก ฉีดเข็มกระตุ้น ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ เดือนมกราคม 2565 หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ก้อนที่คอเหนือกระดูกไหปลาร้า ค่อย ๆ โตขึ้น ...ข้างซ้ายโตกว่าข้างขวา ไม่เจ็บ, ไม่มีไข้, ไม่เบื่ออาหาร, น้ำหนักไม่ลด, ไม่ไอ, ไม่สูบบุหรี่, ไม่มีประวัติวัณโรคในครอบครัว มาพบแพทย์ วันที่ 30 เมษายน 2565

ตรวจร่างกายพบ ต่อมน้ำเหลือง ที่เหนือกระดูกไหปลาร้า supraclavicular โตผิดปกติ ข้างซ้ายโตกว่าข้างขวา 4 เท่า (ดูรูปเฉพาะข้างขวา) เอกซเรย์ปอดปกติ ได้ทำการผ่าตัด ด้วยการฉีดยาชา ตัดชิ้นเนื้อ จากต่อมน้ำเหลือง ที่คอข้างซ้าย ผลพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อ เข้าได้กับ วัณโรคของต่อมน้ำเหลือง ย้อมเชื้อพบ เชื้อวัณโรค เริ่มให้ยารักษาวัณโรค ผู้ป่วยไม่แพ้ยา

สรุป : ผู้ป่วยรายนี้ เป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลือง ไม่ได้เกิดจากการฉีดวัคซีน

คนไทยอย่าไปเชื่อ ข่าวปลอม การฉีดวัคซีนป้องกัน โรคโควิด-19 โดยเฉพาะชนิด mRNA กระตุ้นให้เกิด ระดับภูมิคุ้มกันสูงเกินไป มีความเสี่ยงต่อการเกิด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อย่างไรก็ตาม นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ได้โพสต์เตือนภัยเกี่ยวกับ วัณโรค เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2562 ว่า วัณโรค ยังไม่ได้หมดจากเมืองไทย ยังมีคนไทยทุกเพศ ทุกวัย เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกวัน วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อ ที่เกิดจากเชื้อ มัยโคแบคทีเรีย M.tuberculosis ติดต่อทางการหายใจ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคไอ หรือจาม เชื้อวัณโรค จะลอยออกมาในอากาศ เชื้อวัณโรคมีขนาดเล็กมาก เหมือนฝุ่น PM2.5 สามารถเข้าสู่ถุงลม ผ่านเข้าหลอดเลือด กระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ วัณโรคเป็นได้ทุกอวัยวะ ยกเว้นเส้นผมและเล็บ แต่ส่วนใหญ่ มักจะเป็นที่ปอด คนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ ปีละ 1.2 แสนคน ตายจากวัณโรค ปีละ 14,000 คน

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ได้โพสต์ถึงความร้ายกาจของวัณโรค ระบุว่า

วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ที่พบบ่อยที่สุด ในผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยเอดส์บางคน ป่วยเป็นวัณโรค แต่ไม่แสดงอาการ เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ หลังรับยาต้านไวรัส ภูมิต้านทานดีขึ้น จึงแสดงอาการของวัณโรค เรียกว่า Unmasking TB (หรือเปิดหน้ากากวัณโรค) เมื่อเริ่มยาต้านไวรัส ในผู้ป่วยเอดส์ ที่ภูมิต้านทานต่ำ ต้องคิดถึง และวินิจฉัยวัณโรคให้ได้ ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการ หลังทานยาต้านไวรัส

ผู้ป่วยชายไทย อายุ 35 ปี ทราบว่า ติดเชื้อเอชไอวีนาน 5 ปี แต่ไม่ได้พบแพทย์ แข็งแรงดี จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว (2561) เริ่มป่วย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 10 กิโลกรัม มีไข้ เหนื่อย แต่ไม่ไอ ไปเข้าโรงพยาบาลใกล้บ้าน ทำเอกซเรย์ปอด มีเงาผิดปกติทั้ง 2 ข้าง เข้าได้กับการติดเชื้อรา PCP ในปอด ตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำมาก 27 cells/uL มีเชื้อไวรัสเอชไอวีในเลือด 447,000  copies/ml หลังจากรักษาเชื้อราในปอด ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ขอย้ายมารักษาต่อ

ผู้ป่วยไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย เอกซเรย์ปอดดีขึ้น หลังจากตรวจยีนดื้อยาเชื้อเอชไอวี ไม่พบการดื้อยา ได้เริ่มยาต้านไวรัส 3 ขนาน หลังให้ยาต้านไวรัส 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาการแย่ลง มีไข้ขึ้นอีก เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอ เหนือไหปลาร้าข้างขวาโตคลำได้ เอกซเรย์ปอดเห็นต่อมน้ำเหลือง ที่บริเวณด้านหน้าของช่องอก (mediastinum)โต (ดูรูป)

ทำคอมพิวเตอร์ปอด พบต่อมน้ำเหลืองขนาด 3.4 x 2.4 เซนติเมตร ที่บริเวณด้านหน้าของช่องอก (ดูรูป) ได้ใช้เข็มเจาะดูด ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า ส่งย้อมเชื้อ และเพาะเชื้อ พบเชื้อวัณโรคไม่ดื้อยา ส่งพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อ พบการอักเสบ ไม่พบเนื้องอก ได้ให้ยารักษาวัณโรคนาน 9 เดือน และยาสเตียรอยด์นาน 1 เดือน ผู้ป่วยดีขึ้น ต่อมน้ำเหลือง ที่เหนือไหปลาร้าข้างขวา และต่อมน้ำเหลือง ด้านหน้าของช่องอกยุบหายไป (ดูรูป) ผู้ป่วยยังกินยา ต้านไวรัสเอชไอวีต่อเนื่อง แข็งแรงดี กลับไปทำงานได้ตามปกติ

ส่วนท่านใด ที่สงสัยและกังวลว่า ตนเองจะป่วยด้วยโรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือไม่นั้น ? ให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรค ซึ่งหากตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว สามารถหายขาดได้ โดยเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา (11 ก.ค. 2561) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึง เคสผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาให้หายขาด ด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งเปิดเผยว่า

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในผู้ป่วยโรคเอดส์ สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยยาเคมีบำบัด

ผู้ป่วยชายไทย อายุ 69 ปี มาโรงพยาบาล เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ด้วยอาการปวดท้อง ด้านบนซ้าย จุกเสียด แน่นท้อง น้ำหนักลด 3 กิโลกรัม ภายในเวลา 3 เดือน วินิจฉัยว่า ลำไส้เล็กอุดตัน ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง พบก้อนเนื้อ ในลำไส้เล็กส่วนบน ต้องตัดลำไส้เล็กออก ประมาณ 10 เซนติเมตร ผลชิ้นเนื้อของก้อนในลำไส้เล็ก เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด Non-Hodgkin Lymphoma (NHL) โดยมะเร็งเริ่มต้นในลำไส้เล็ก แล้วกระจายเข้า ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง เจาะเลือด Anti-HIV ตรวจผลเป็นบวก ค่าเม็ดเลือดขาว CD4 ตำ่ เจาะไขกระดูก ตรวจไม่พบมะเร็ง กระจายเข้าไขกระดูก

สรุป ผู้ป่วยรายนี้ เป็นโรคเอดส์ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในลำไส้เล็ก

ได้เริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี และได้ยาเคมีบำบัด ทั้งหมด 8 ครั้ง ติดตามผู้ป่วยรายนี้มา 15 ปี ผู้ป่วยแข็งแรงดี ทำงานได้ตามปกติ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไม่กลับมาอีก แสดงว่า หายขาดจากโรคมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยยังต้องทาน ยาต้านไวรัสเอชไอวี ต่อเนื่องต่อไป จำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 เพิ่มมากขึ้น และจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวี ในเลือดต่ำกว่า 10 copies/ml

และสำหรับโรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มักพบส่วนใด ตรงไหนของคนเรา มีสาเหตุมาจากอะไร และผู้ป่วย จะมีอาการอย่างไร ? Backbone MCOT มีบทความจาก อาจารย์แพทย์ ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ ผ่านเว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาแนะนำ ดังนี้

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคร้ายใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้าม

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นอีกหนึ่งโรคร้าย ที่อยู่ใกล้ตัวเรา เมื่อพบเจอสิ่งผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ โรคที่มีเนื้องอกร้ายชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลือง หรือโครงสร้างต่อม ซึ่งระบบน้ำเหลือง ก็เป็นระบบหนึ่งของภูมิคุ้มกัน ประกอบไปด้วย อวัยวะน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม และไขกระดูก ซึ่งภายในอวัยวะเหล่านี้ จะเต็มไปด้วยน้ำเหลือง มีหน้าที่นำสารอาหาร และเซลล์เม็ดเลือดขาวไปทั่วร่างกาย และเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ เกิดความผิดปกติ จึงทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นมา

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถเกิดได้ในทุกที่

เพราะต่อมน้ำเหลือง มีอยู่ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น คอ, รักแร้, ข้อพับแขน, ข้อพับขา, ช่องอก หรือช่องท้อง แต่ยังไงก็ตาม เซลล์น้ำเหลือง ก็ยังอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ หรือกระเพาะ จึงสามารถเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้หมดทุกที่

สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการคาดการณ์เบื้องต้น พบว่า มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

+ ปัจจัยทางเคมี วัตถุทางเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สารเคมีปราบศัตรูพืช น้ำยาย้อมผม เป็นต้น

+ ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีสมรรถภาพภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น โรคเอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น

+ ปัจจัยทางพันธุกรรม การเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น มีความชัดเจน ที่เกิดมาจาก กรรมพันธุ์ทางครอบครัว เช่น พี่น้อง อาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตามลำดับ หรือเป็นพร้อมกัน

สาเหตุจากไวรัส การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัส HIV เป็นต้น

ปัจจุบัน มีการตรวจวินิจฉัยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่ดีขึ้นมาก ส่งผลทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น เนื่องจากการรักษาที่ดีขึ้น สำหรับวัยที่ตรวจพบ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถพบได้ในกลุ่มวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 20 ปีถึง 40 ปี ทั้งนี้ ก็ยังมีการตรวจพบ ในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป

ในส่วนของอาการ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ ?

จะพบก้อน ที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ, รักแร้, ขาหนีบ โดยก้อนเหล่านั้น จะไม่มีอาการเจ็บ ต่างจากการติดเชื้อ ที่จะมีอาการเจ็บที่ก้อนเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น, มีเหงื่อออกมากในกลางคืน, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลดเร็ว, อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ, ไอเรื้อรัง, หายใจไม่สะดวก, ต่อมทอนซิลโต, ปวดศีรษะ ซึ่งอาการนี้ มักพบบริเวณต่อมน้ำเหลือง ในระบบประสาท แต่บางครั้ง การคลำเจอก้อน ก็อาจไม่ใช่ก้อนมะเร็งเสมอไป เพราะอาจเป็นเรื่องของ การอักเสบจากการติดเชื้อ หรืออาจเป็นตัวโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง

โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาให้หายเด็ดขาดได้ ถ้าไม่ได้อยู่ในระยะแพร่กระจาย จึงควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากคลำเจอก้อน เวลาอาบน้ำ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที

สำหรับระยะของ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

+ ระยะที่ 1 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพียงตำแหน่งเดียว เช่น บริเวณลำคอด้านซ้าย หรือบริเวณรักแร้ด้านขวา บริเวณใดบริเวณหนึ่ง

+ ระยะที่ 2 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป แต่จะต้องอยู่ด้านเดียวกัน ของกระบังลม เช่น บริเวณคอด้านซ้าย และคอด้านขวา หรือคอซ้ายกับรักแร้ซ้าย

+ ระยะที่ 3 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ของกระบังลม เช่น มีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ ร่วมกับที่ขาหนีบ

+ ระยะที่ 4 โรคจะกระจาย ออกนอกระบบน้ำเหลือง เช่น เกิดที่ไขกระดูก หรือเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น เช่น ตับ, ปอด, สมอง, กระดูก

วิธีการตรวจหา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

แพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้ และตรวจร่างกายเป็นลำดับ หรือตัดชิ้นเนื้อ ของต่อมน้ำเหลือง ออกไปตรวจทางพิษวิทยา ส่วนการรักษา จะใช้วิธีการให้ยาเคมีบำบัด จำนวนครั้งในการให้ ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแลในเคสนั้น ๆ ซึ่งการรักษาโรคนี้ จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดูแลอยู่ หากตัวโรคมีความรุนแรงมาก จะใช้วิธีการฉายแสง จากภายนอก หรือในคนไข้ที่มีข้อห้าม ในเรื่องของการให้ยา ก็จะได้รับการรักษา ด้วยวิธีนี้เช่นกัน โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะไม่ต้องผ่าตัด เนื่องจากเป็นโรคที่ตอบสนองต่อยาและแสงเคมีบำบัดมากๆ อยู่แล้ว

วิธีการดูแลตนเอง สำหรับโรคนี้ คือ ?

พยายามทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่ อาจจะเน้นอาหาร ที่มีพลังงานเยอะ เช่น ไข่ขาว หรืออาหารที่มีโปรตีนสูง ก็ช่วยได้ เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงพวกยาชุด, ยาหม้อ, ยาลูกกลอน และควรออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้สุขภาพดี

ข้อมูลจาก อ. พญ.กีรติกานต์ บุญญาวรรณดี หน่วยรังสีรักษา และมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
https://www.facebook.com/FC-604030819763686

เว็บไซต์ : คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล RAMA CHANNEL
https://www.rama.mahidol.ac.th

เว็บไซต์ : โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
https://www.vichaiyut.com

Adblock test (Why?)


ต่อมน้ำเหลืองโต นี่..มะเร็ง หรือไม่ ? แพทย์แจงคนไข้ หลังฉีดวัคซีน mRNA - MCOT Plc
Read More

No comments:

Post a Comment

ทำงานหนักจนลืมกินข้าว ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารจริงหรือไม่? - Hfocus

การกินอาหารไม่ตรงเวลา มีผลต่อโรคกระเพาะจริงไหม? ปรับพฤติกรรมอย่างไรจะช่วยลดอาการป่วย  ด้วยพฤติกรรม การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้บางคนไม่สามา...