วันนี้ (14 มิถุนายน 2565) ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี พร้อมด้วย ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ และอาจารย์ประจำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ นางพิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ หัวหน้าศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ในเวทีเสวนา ล้วงลึก เจาะประเด็น “ฝีดาษลิง” และการตรวจหาเชื้อแบบ PCR
ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า สำหรับโรคฝีดาษ (Pox) จะมีทั้งคน ม้า วัว ลิง แมลง จึงไม่ใช่โรคเดียวกับโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่เป็นการระบาดจากคนสู่คน และยังไม่มีข้อมูลระบาดไปสู่สัตว์ ใช้วิธีกำจัดด้วยการปลูกฝีและวัคซีนในคน ทุกวันนี้โรคดังกล่าวหมดไปแล้ว แต่อาจเกิดขึ้นได้กรณีที่ตัวอย่างหลุดจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) 2 แห่งคือ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย
“สำหรับฝีดาษลิง (Monkeypox) เมื่อถอดรหัสพันธุกรรม พบว่ามีสายพันธุ์ที่ 1 2 และ 3 ซึ่งสายพันธุ์ที่ 1 กับ 2 อุบัติมานานตั้งแต่ปี 1971 ในทวีปแอฟริกา หลังจากนั้น ปี 1978 มีการระบาดในต่างประเทศ เช่น ไนจีเรีย ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีการระบาดในทวีปอเมริกา ซึ่งพบใน 2 สายพันธุ์ระบาดพร้อมกัน คือ B.1 และ A.2 ซึ่งมีความแตกต่างที่รหัสพันธุกรรม ฉะนั้น ข้อสังเกตว่า โรคฝีดาษลิงปัจจุบันเป็นโรคเก่าแล้วจะนำความรู้มาประยุกต์ใช้ก็อาจไม่ตรง เพราะมีการกลายพันธุ์แล้ว อาจเหมือนโรคอุบัติใหม่ด้วยซ้ำ ดังนั้น ชุดตรวจ PCR ที่ตรวจเมื่อปี 1978 อาจจับเชื้อในปี 2022 ไม่ได้ ฉะนั้น ต้องมีการนำชุดตรวจเก่ามาใช้ทดสอบกับเชื้อที่ระบาดในปัจจุบันก่อน” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า สำหรับฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งปี 1971 ประเทศไนจีเรีย พบเด็กติดเชื้อแล้วแพร่ระบาดจากคนสู่คน ทำให้เกิดผู้ป่วย 500 ราย ผื่นจะขึ้นบริเวณใบหน้าเป็นหลัก สังเกตได้ง่าย แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเพื่อควบคุมโรค หลังจากนั้นก็ระบาดไปที่อังกฤษ อิสราเอล สิงคโปร์ จากนั้นก็ตรวจจับไม่ได้ มาจับได้อีกครั้งที่ทวีปยุโรปในงานรวมตัวของชายรักชาย
“แต่มีความน่ากังวลใจคือ ผื่นที่พบเกิดในร่มผ้า ฉะนั้น ผู้ป่วยมักจะไปหาแพทย์กามโรค เนื่องจากไม่รู้ว่า เป็นฝีดาษลิงที่เกิดในร่มผ้า หรืออวัยวะเพศ ทั้งนี้ นิยามคัดกรองปัจจุบันก็ต้องเปลี่ยนตามด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอความร่วมมือในคลินิกกามโรค เพื่อคัดกรองส่งตรวจเชื้อด้วย ต้องย้ำอีกเรื่องคือ ผีดาษลิงเป็นโรคติดต่อ แม้จะมีเพศสัมพันธ์โดยสวมถุงยางอนามัยก็ติดเชื้อได้ เพราะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สวมถุงยางป้องกันสารคัดหลั่งได้ อังกฤษจึงมีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสังเกตอาการ 2-4 สัปดาห์ ขณะนี้เริ่มดูเหมือนเป็นเวอร์ชั่นใหม่ของโรคซิฟิลิส (Syphilis) หากมีการระบาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะหากไม่มีผื่นที่อื่น ก็จะคัดกรองไม่ได้ เมื่อมีคนเข้าประเทศมา ก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้ ส่วนค่าตรวจ PCR ตามคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน เฉลี่ย 1,500 บาท” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวและว่า ในทางที่เลวร้ายที่สุดคือ การกลายพันธุ์เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ด้าน ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ยังจัดโรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะสม 1,500 รายทั่วโลก ที่ไม่เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนโควิด-19 เพราะติดไม่ง่ายและติดเฉพาะกลุ่ม โดยหวังว่า จะเร่งจัดการได้
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นของแอฟริกา ซึ่งเป็นโรคติดจากไวรัส อาการจะขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อ แบ่งเป็นช่วงแรกจะไม่มีอาการใช้เวลาฟักตัว 1-3 สัปดาห์ ต่อมา เป็นระยะไข้โดยหลังจากนั้น 3-4 วัน ก็จะมีผื่นขึ้นกระจายตามร่างกาย ลักษณะผื่นคล้ายฝีดาษคน แต่รุนแรงน้อยกว่า โดยผื่นก็จะมีระยะต่างกัน เริ่นแรกผื่นแดงจะขึ้นที่รอบริมฝีปาก ลำตัว จากนั้นจะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส และเป็นตุ่มหนอง คล้ายกับตุ่มของโรคสุกใส จากนั้น ก็จะเริ่มตกสะเก็ด ทั้งนี้ ช่วงที่เริ่มมีไข้ ออกผื่น จะเป็นช่วงที่แพร่กระจายเชื้อได้ ส่วนความรุนแรงขึ้นอยู่กับบุคคล หากแข็งแรงดีไม่มีโรคประจำตัว ตุ่มจะน้อยและหายได้เอง ขณะเดียวกัน หากเป็นเด็ก มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมีโอกาสที่เชื้อกระจายเยอะ ตุ่มมาก โดยความรุนแรงจะเทียบกับจำนวนผื่นตุ่มที่เกิดขึ้น ถ้ามากกว่า 100 ตุ่มขึ้นไป ถือว่ารุนแรงไปจนเสียชีวิตได้ แต่อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ ร้อยละ 3-4 และหากมีวัคซีนป้องกันก็จะลดอัตราเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ข้อสังเกตสำหรับโรคฝีดาษลิงก็อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตด้วย
“ฝีดาษลิงไม่ได้น่ากลัวเหมือนฝีดาษ แต่ต้องติดตามดู เพราะเป็นเชื้อใหม่การแสดงอาการยังไม่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่าเคสกำลังเพิ่มขึ้น โดยการระบาดรอบนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการไข้ แต่จะมีออกผื่นเลย และแปลกที่พบมาในอวัยวะเพศ ที่สามารถติดได้ทางเพสสัมพันธ์แม้ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยฝีดาษลิงในเมืองไทยเลย ดังนั้น คนในประเทศไทยที่พบอาการ เช่น ผื่น แล้วไปตรวจเริม ซิฟิลิส หรือไวรัสอื่น ไม่เจอก็ให้สงสัยแล้วตรวจฝีดาษลิง” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว
ขณที่ นางพิไลลักษณ์ กล่าวว่า การตรวจแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เตรียมวิธีตรวจ PCR สำหรับการกลายพันธุ์ซึ่งไพรเมอร์ที่นำมาใช้ยังสามารถตรวจจับฝีดาษลิงในปัจจุบันนี้ได้อยู่ สำหรับระยะตรวจหาเชื้อ ช่วงแรกเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดจึงตรวจเลือดได้แต่เป็นระยะที่สั้นมาก ดังนั้น แนะนำว่า ช่วงที่สงสัยและยังไม่ออกผื่น สามารถเก็บตัวอย่างจากช่องคอ ระบบทางเดินหายใจ แต่ระยะที่แม่นยำที่สุดคือ ช่วงออกผื่นแล้ว ซึ่งจะผ่านไปหลังจากรับเชื้ออย่างน้อย 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติไวรัสจะกลายพันธุ์เพื่อปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของสิ่งที่ไวรัสจะอาศัยอยู่ ฉะนั้นต้องติดตามว่าจะมีความรุนแรงเหมือนโควิด-19 หรือไม่ แต่ทุกวันนี้ ยังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยประเทศไทย มีการรับมือทางระบบสาธารณสุขในระดับดีจากการรับมือโควิด-19 มีการตั้งด่านคัดกรองที่สนามบินในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ มีการเตรียมห้องแล็บเพื่อให้ตรวจเชื้อได้ทันที
ทั่วโลกติดฝีดาษลิงแล้ว1,500 ราย ผู้เชี่ยวชาญหวั่น! คุมไม่ดี อาจเป็นซิฟิลิสเวอร์ชั่นใหม่ - มติชน
Read More
No comments:
Post a Comment