"การแพร่ระบาดโควิด-19" นอกจากจะทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากทั่วโลกแล้ว ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในสหรัฐอเมริกา ยังพบ “ความเป็นไปได้” ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ยังอาจมีส่วนเชื่อมโยงกับการทำให้ "โรคบางโรคที่เคยลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดใหม่" หลังมีข้อมูลว่า "ลักษณะรูปแบบการระบาดของเชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป"
ลักษณะรูปแบบการระบาดของเชื้อไวรัส เปลี่ยนแปลง อย่างไร?
การแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) :
เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวซึ่งโดยปกติเป็นช่วงการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐฯ หากแต่ในช่วงฤดูหนาวระหว่างปี 2020-2021 กลับกลายเป็นฤดูกาลแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงน้อยที่สุดในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิต หรือ ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในสหรัฐอเมริกาพบ คือ จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่กลับยังคงเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มมากขึ้นอีกแม้ย่างเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการ “ยกเลิก” มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยว่า ฤดูกาลแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐฯ จะขยายไปจนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน!
การแพร่ระบาดของ ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) :
"ไวรัส RSV" เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง จนสามารถทำให้เกิด "ภาวะปอดอักเสบ" ได้ ซึ่งโดยปกติมักเกิดการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว แต่ในช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว กลับพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น เช่นกัน
การแพร่ระบาดของ ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) :
"ไวรัสอะดีโน" เป็นไวรัสที่ส่งผลให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย ซึ่งโดยปกติมีอาการได้ตั้งแต่เป็นไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเสีย ตาแดง แต่แล้วเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว (ปี 2021) การแพร่ระบาดของ Adenovirus 41 ซึ่งมักทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร ได้กลายเป็นสาเหตุหลักของ "โรคตับอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรงในกลุ่มเด็กเล็ก"
การแพร่ระบาดวัณโรค (Tuberculosis) :
"วัณโรค" ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Mycobacterium Tuberculosis จู่ๆ กลับทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ที่กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) :
โรคที่เกิดจาก Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ และ ไข้ทรพิษ ซึ่งพบได้ยากนอกแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก แต่ปัจจุบันกลับถูกพบว่ามีการแพร่ระบาดใน 29 ประเทศ และมีผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อและต้องสงสัยว่าติดเชื้อรวมกันมากกว่า 1,000 คน
โดยปัจจุบัน แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า Othopoxvirus มีการกลายพันธุ์หรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากหลายแห่ง รายงานว่า “เป็นพฤติกรรมในรูปแบบใหม่และผิดปกติ” ที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุด ดูเหมือนว่าเป็นการแพร่ระบาดภายในชุมชน, หรือผ่านทางเพศสัมพันธ์, ซึ่งต่างจากก่อนหน้าที่ ที่มักเกิดขึ้นเพราะการเดินทางมาจากสถานที่ต่างๆ
อีกทั้งอาการต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นในรูปแบบใหม่เช่นกัน ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการที่ ผู้ติดเชื้อบางคน มีอาการป่วยที่แตกต่างออกไปจากที่เคยพบในผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ เช่น ผู้ป่วยบางคนไม่มีอาการไข้ในระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อ หรือ เกิดผื่นและรอยโรคขึ้นลักษณะจำเพาะและพบได้ไม่บ่อยที่อวัยวะเพศและทวารหนัก
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
ข้อจำกัด การลดการสัมผัส ภูมิคุ้มกัน อันเกิดจากผลกระทบโควิด-19 :
มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเป็นปกติจากรูปแบบการแพร่ระบาดเดิมนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงมาก
อย่างไรก็ดี ในสถานที่ที่เชื้อไวรัสสามารถแทรกซึมเข้าไปได้ เนื่องจากการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขที่เน้นไปที่การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นหลัก กลับกลายเป็นรอยโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้ออื่นๆ ขึ้นอย่างเงียบๆ
และ "ความผิดพลาด" นี้เอง คือ คำอธิบายที่ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดการแพร่ระบาดวัณโรคครั้งใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน โดยตามรายงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุขท้องถิ่น ยอมรับว่า อาการเจ็บป่วยที่คล้ายคลึงกันระหว่างโควิด-19 และ วัณโรค ทำให้ผู้ป่วยวัณโรค ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
ขณะเดียวกัน การสัมผัสโรคที่ลดน้อยลงในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยังได้ลดภูมิคุ้มกันต่อโรคของแต่ละบุคคลลงและทำให้สังคมโดยรวมมีความเสี่ยงมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งโดยทั่วไปจะได้รับแอนติบอดีต่อต้านไวรัสทั่วไป ผ่านทางครรภ์ของมารดาและการเข้าสังคมในช่วงปีแรกๆ นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างที่มีการล็อกดาวน์ มีการสำรวจพบอีกด้วยว่า เด็กเล็กจำนวนมากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับการเจ็บป่วยโรคอื่นๆ เช่น โรคหัดและไอกรน อีกด้วย
ซึ่งประเด็นทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า อาจมีความเชื่อมโยงกับจำนวนผู้ป่วยโรคตับอักเสบเฉียบพลันรุนแรง ที่พบในเด็กเล็กจำนวนมาก ณ เวลานี้ และทำให้อาจมีความจำเป็นจะต้องรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กเล็กครั้งใหญ่ทั่วโลกอีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โควิด-19 อาจเชื่อมโยงกับรูปแบบการระบาดโรคฝีดาษลิงที่เปลี่ยนไป - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment