สำนักการแพทย์ กทม. ยันความพร้อมขับเคลื่อนนโยบาย "ชัชชาติ" ด้านสาธารณสุข เพิ่มศูนย์เฉพาะทาง ยกระดับเวชศาสตร์เขตเมือง สร้างสุขส่งเสริมผู้สูงอายุ เตรียมคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่คลอบคลุมทุก รพ.กทม. ปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เผยแพร่ข่าวสารสำนักการแพทย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 1/2565 ระบุว่า สำนักการแพทย์พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย 214 ข้อทุกมิติ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยในด้านสาธารณสุข เตรียมเพิ่มศูนย์เฉพาะทาง ยกระดับเวชศาสตร์เขตเมือง สร้างสุขส่งเสริมผู้สูงอายุ เตรียมคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ครอบคลุมทุกโรงพยาบาล กทม. พร้อมปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ ทางสำนักการแพทย์ ได้คัดกรองนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสำนักการแพทย์ “10 นโยบาย สุขภาพดี” ได้แก่ 1. นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย Pilot LGBTQI+ Clinic โดยเปิดบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิต และการให้ฮอร์โมน ซึ่งจะเปิดให้บริการ 1 ต.ค. 2565 ประกอบด้วย รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สิรินธร
2. ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง ซึ่งสำนักการแพทย์ดำเนินการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบ Tele-Consult ร่วมกับสำนักอนามัย และเชื่อมโยงโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. เพื่อร่วมเป็นภาคีในการดูแลผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา
3. หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine ซึ่งสำนักการแพทย์ได้จัดทำโครงการ Smart OPD ผ่าน Application "หมอ กทม." ใน รพ. 9 แห่ง และครบ 11 แห่งในปี พ.ศ.2567 และจะเชื่อมโยง Application ต่างๆ ที่มีระบบ Telemedicine รวมถึงขยายบริการเจาะเลือดถึงบ้าน (Mobile Lab) และ Drive Thru Medicine (รับยาและเจาะเลือด)
4. จัดกิจกรรมคัดกรองและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยการตรวจสุขภาพประจำปี และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในชมรมผู้สูงอายุใน 11 โรงพยาบาล สำนักการแพทย์วางแผนก่อสร้างโรงพยาบาลเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนในกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ภายในปี พ.ศ.2570
5. เพิ่มจำนวน Excellence Center และยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง ซึ่งเพิ่มจำนวนศูนย์ Excellent ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง ศูนย์โรคไต ศูนย์มะเร็ง เป็นต้น รวมถึงการต่อยอดโครงการ 4 ทศวรรษ 4 โรคคนเมืองเพื่อคนกรุงเทพฯ พัฒนาเป็นศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองใน 8 โรงพยาบาล และจัดตั้งศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้สูงอายุ
6. บัตรคนพิการ จุดเดียวจบ ทุกโรงพยาบาลสังกัด กทม. ออกบัตรประจำตัวคนพิการในเขตพื้นที่ กทม. ในวันและเวลาราชการ ประกอบด้วย รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.สิรินธร รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน
7. กรุงเทพฯ มั่นใจ ปลอดภัยโควิด โดยได้ดำเนินการตามมาตรการโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น
8. ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging) จัดกิจกรรมคัดกรองและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยการตรวจสุขภาพประจำปี และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในชมรมผู้สูงอายุใน 11 โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์
9. ถอดบทเรียนโควิด-19 ไม่ผิดพลาดซ้ำสอง ในภารกิจการบริหารจัดการรับส่งต่อผู้ป่วย การบริหารเตียง การขยายศักยภาพโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) ระบบรักษากักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และระบบรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OP Self Isolation)
10. การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล โดยได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักการแพทย์ สำนักอนามัยและภาคีเครือข่ายผ่านระบบ Health Link พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Bangkok EMS) และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเตียงกรุงเทพมหานคร
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้มีการเตรียมพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPD Self Isolation หากมีอาการรุนแรงก็จะส่งต่อเข้ารักษาพยาบาลที่ รพ.หลักต่อไป ในขณะที่การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมสูงขึ้น คือ เข็ม 1 และเข็ม 2 ได้เกิน 100% ส่วนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 มีความครอบคลุมมากกว่า 60%
ขณะเดียวกันสำนักการแพทย์ ระบุว่า สามารถเดินหน้าเข้าสู่การเป็นจังหวัดที่บริหารจัดการโรคโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic Sandbox) และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลในสังกัดฯ เปิดคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดขั้นตอน เวลารอคอย ต่อผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไวรัสตับอักเสบบี
นอกจากนี้ สำนักการแพทย์ยังระบุอีกว่า จากการติดตามผลการดำเนินงานคลินิก Long COVID ใน 9 โรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 9-30 พ.ค. 2565 พบว่ามีผู้รับบริการทั้งหมด 184 คน เพศชาย 54 ราย เพศหญิง 130 ราย แบ่งออกเป็นช่วงอายุน้อยกว่า 60 ปี จำนวน 108 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 76 ราย แยกตามอาการแสดง ได้แก่ ไอ 111 ราย เหนื่อยหอบ 103 ไข้ 42 ราย หายใจไม่สะดวก 35 ราย และอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก 36 ราย
"หากสงสัยในอาการที่พบสามารถนัดหมายการรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ Telemedicine ในแอปพลิเคชั่น หมอ กทม. รองรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร.1646" ข่าวสารสำนักการแพทย์ ระบุ
'สำนักการแพทย์ กทม.' ขานรับ! ยันพร้อมขับเคลื่อนนโยบายทุกข้อ หนุน 'ชัชชาติ' ยกระดับสุขภาพกรุง - The Coverage
Read More
No comments:
Post a Comment